Website Hit Counter
 
text banner ประวัติหนองฉิม
  บ้านหนองฉิม ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหลายหมู่บ้านแต่ใช้ชื่อรวมกันว่า “บ้านหนองฉิม”ทั้งนี้เพราะเดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ต่อมาเมื่อมีจำนวนหลังคาเรือนมากขึ้น จึงแยกออกเป็นหลายหมู่บ้านเพื่อสะดวกในการปกครอง

การคมนาคมระหว่างหมู่บ้านกับอำเภอเนินสง่าไปมาได้สะดวกในทุกฤดูกาล อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร เส้นทางที่ใช้ติดต่อกันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2180 สายละหาน – บ้านค่าย ซึ่งแยกออกจาก ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ถนนสีคิ้ว – ชัยภูมิ
ภาษาที่ใช้พูดกันส่วนใหญ่เป็นภาษาท้องถิ่นอีสาน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่เป็นหลัก มีขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนชาวชนบทอีสานทั่ว ๆ ไป บ้านหนองฉิมปัจจุบันมีฐานนะเป็นตำบลหนึ่งของ อำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง จึงมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจดังจะกล่าวต่อไปนี้
 
     ในราวปี พ.ศ. 2425 หลวงวิเศษ (ขำ) เป็นคนแรกที่นำครอบครัวของตน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตนี้ หลวงวิเศษ (ขำ) (เป็นต้นตระกูล “เณรสุวรรณ”) เดิมเป็นข้าราชการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา เกิดเบื่อชีวิตราชการ จึงลาออกแล้วเดินทางเข้ามาในเขตอำเภอจัตุรัส (สมัยนั้นเรียกว่าเมืองสี่มุม) มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านตลาด (ปัจจุบันอยู่ในเขต ตำบลกุดน้ำใส อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ) เห็นว่าทำเลที่ทำนา ทำไร่ไม่เหมาะสม จึงนำครอบครัวไปอยู่ที่บ้านโนนทอง บ้านมะเกลือ ตามลำดับ (ปัจจุบันสองหมู่บ้านนี้ อยู่ในเขตตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ) แต่ไร่นาที่ทำต้องถูกน้ำท่วมทุกปี เลยย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านจาน (ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านจานทุ่ง”ตำบลหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส) และทำไร่นาที่นั่น แต่ก็ไม่วายถูกน้ำท่วม  
จึงตัดสินใจพาครอบครัวมาจับจองที่ดินทำกินและสร้างบ้านเรือนที่บริเวณบ้านใต้คู หมู่ที่ 4 ตำบลหนองฉิมในปัจจุบัน จากการหักร้างถางพงเพื่อทำนาทำไร่ของหลวงวิเศษ (ขำ) นี้เอง ทำให้มีชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านละหาน บ้านหนองบัวใหญ่ บ้านจานและชาวบ้านที่อพยพครอบครัวมาจากบ้านหนองคู อำเภอบรเบือ จังหวัดมหาสารคาม ได้มาจับจองพื้นที่ทำกินและตั้งรกรากมากขึ้น และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหนองซึกวึก”
 
  ทั้งนี้เพราะด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีหนองน้ำขนาดใหญ่รกทึบไปด้วยต้นไผ่ มีสภาพน่ากลัวมาก ชาวบ้านจึงเรียกหนองแห่งนี้ตามความรู้สึกและภาษาของตัวเองว่า “หนองซึกวึก” ซึ่งอาจหมายถึง ความรกทึบน่ากลัวนั่นเอง (ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนบอกว่า อาจมาจากคำว่า “ซึกมึก” เพราะสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก มีสัตว์ป่าชุกชุมโดยเฉพาะเสือได้วิ่งมาบริเวณหนองน้ำนี้ตามภาษอีสานคำว่า “ซึกมึก” เป็นลักษณะการวิ่งของสัตว์ที่วิ่งเร็วและน่ากลัว) ปัจจุบันหนองน้ำนี้เรียกว่า “หนองซึกมึก” ซึ่งเพี้ยนไปอีก หรือบ้างครั้งเด็ก ๆ จะเรียกว่า “หนองเสือ” เพราะมีรูปปั้นของเสืออยู่ปากทางเข้าหนอง เมื่อมีจำนวนครอบครัวมากขึ้น จึงต้องขยับขยายหมู่บ้านออกไปทางทิศใต้จดหนองน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งคือ “หนองฉิม” สาเหตุที่ชื่อเช่นนี้ เพราะบริเวณหนองน้ำสมัยนั้น พบว่ามีเสาไม้คล้ายกับ ซากของศาลาที่ปลูกไว้ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจของพระสงฆ์ ระหว่างที่เข้าพรรษา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “สิม”
 
ประกอบกับทางทิศตะวันออกของหนองน้ำแห่งนี้มีพระพุทธรูปที่แกะสลักบนแผ่นหิน (ปัจจุบันยังปรากฏอยู่ ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า “พระง้าง”) ก็เลยเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า “หนองสิม” อยู่ การขยายหมู่บ้านออกมาทางทิศใต้นี้ เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น “หนองสิมซึกวึก” ต่อมาเพี้ยนเป็น “หนองฉิมซึกวึก” ซึ่งต่อมาคำว่า “ซึกวึก” ไม่ค่อยนิยมเรียกกัน จึงเหลือเพียงชื่อหมู่บ้านว่า “หนองฉิม” เท่านั้น หลักฐานที่พบว่ามี “สิม” พระพุทธรูปแกะสลักบนแผ่นหินและเศษภาชนะถ้วยชามสมัยเก่าที่พบในบริเวณนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้เคยมีผู้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน เพราะหลักฐานเหล่านี้มีเค้าลักษณะคล้ายศิลปะของขอม แต่สาเหตุที่ร้างหรือสาบสูญไปไม่สามารถทราบได้หรืออาจจะเป็นไปด้วยสาเหตุหลายอย่าง เช่น โรคระบาด หรืออาจถูกข้าศึกรุกราน (โดยเฉพาะสมัยเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์ หรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ก็ได้  
 
  อย่างไรก็ตามชุมชนแห่งนี้ได้พัฒนาและเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสมัยนั้นก็คือ การปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ดังนั้นในปี พ.ศ.2461 นายจันทร์แดง สิงห์จันทร์ ได้นำเอาคำเริ่มของกำนันตำบลละหานสมัยนั้นว่า ควรจะมีวัดเพื่อเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวและประกอบกิจของพระสงฆ์ประจำหมู่บ้าน จึงปรึกษาหารือกับชาวบ้านและพร้อมใจกันสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมาก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัด มีชื่อว่า “วัดบ้านหนองสิม” ต่อมาเรียกเป็น “วัดบ้านหนองฉิม” ในปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสุทธิวนาราม” และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
 
ตราสัญลักษณ์องค์การบริหารส่วนตำบลหนองฉิม